Thursday, September 06, 2012

[People] ชาร์ลอตต์








ฉันคิดอยากเขียนเรื่องเพื่อนคนนี้มานานแล้ว

                ไม่แน่ใจว่าเธอจะสะดวกใจให้เอ่ยถึงชื่อจริงไหม จึงขอใช้นามสมมติว่า ชาร์ลอตต์ แล้วกัน ชาร์ลอตต์เป็นเพื่อนในวัยมัธยมต้นของฉัน เธอเป็นคนรักการอ่าน มีบุคลิกอ่อนหวาน ไว้ใจโลก และไม่ค่อยมีความคิดในทางลบสักเท่าไหร่ เธอคนนี้เป็นคนแนะนำให้ฉันอ่านนวนิยายซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในนวนิยายที่ฉันแสนรักอย่าง ทางรัก  และ สายสัมพันธ์ ของโรสลาเรน พร้อมกันนั้นเธอยังชี้ไปที่ชั้นหนังสือในห้องสมุด พลางบอกว่า ชุดหนังสือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ สนุกมากเลยนะ แถมเป็นคนที่ทำให้ฉันหันมาลองอ่าน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของ วินทร์ เลียววารินทร์ ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะได้รางวัลซีไรต์เสียด้วยซ้ำ

                ในวัยมัธยมต้น นอกจากแลกเปลี่ยนเรื่องหนังสือกันแล้ว เรายังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องฟุตบอลกันด้วย ใช่! ในวัยนั้น ความคลั่งไคล้ฟุตบอลของฉันส่งอิทธิพลต่อเธอเช่นกัน ชาร์ลอตต์เริ่มหันมาดูฟุตบอลในช่วงมัธยมสาม เริ่มแรกเราก็เสพติดนักเตะหล่อๆ ก่อน ต่อมาก็กลายเป็นว่า ความหล่อทำให้เราดูฟุตบอลสนุกขึ้น พอฉันย้ายโรงเรียนในช่วงมัธยมปลาย เราก็ยังคงเขียนจดหมายติดต่อกัน เนื้อความในจดหมายส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับหนังสือและฟุตบอลเสียมาก แน่นอนว่าในจดหมายเหล่านี้มีชื่อ เดวิด เบคแคม ปรากฏอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยครั้ง

                ชีวิตมัธยมปลายเป็นชีวิตที่เด็กนักเรียนทุกคนพุ่งเป้าเตรียมเอ็นทรานซ์ ฉันและเธอก็เช่นกัน เพียงแต่เราเลือกเอ็นทรานซ์คนละสายวิชา ฉันหันเหความสนใจมาที่คณะสายสังคมศาสตร์กับสื่อสารมวลชน เคยลังเลว่าจะเลือกอะไรเป็นคณะอันดับหนึ่งดี ระหว่า รัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับ นิเทศศาสตร์ สุดท้าย ความอยากเป็นภริยานักการทูตก็เอาชนะความอยากเป็นผู้ประกาศข่าว >///< ขณะที่ชาร์ลอตต์เลือกสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ ฉันไม่ค่อยได้คุยกับเธอแล้วในช่วงนั้น จึงไม่รู้เหตุผลเชิงลึกว่าทำไมเธอเลือกเอ็นทรานซ์เข้าหมอยา แทนที่จะเป็นหมอหมา เหมือนนางเอก ศุลีพร ในนวนิยาย ทางรัก และ สายสัมพันธ์ ที่เราชอบอ่านกันในช่วงเริ่มต้นวัยรุ่น

                ช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นช่วงชีวิตที่ฉันได้กลับมาติดต่อกับเธออีกครั้ง เคยแวะไปเยี่ยมเธอที่หอพักสองสามหน ชาร์ลอตต์เล่าให้ฟังว่ากำลังเรียนเทนนิส และชอบไปทำกิจกรรมที่โบสถ์กับ เพื่อนฝูง ในชมรม เธอเผยไต๋ให้ได้รู้ว่าผู้หญิงผิวขาวอ่อนหวานอย่างเธอนั้นไม่ได้นิยมชมชอบหนุ่มไทยแท้ แต่อ่อนไหวกับผู้ชายตาน้ำข้าวที่พูดภาษาอังกฤษได้ไพเราะสุดๆ ตอนนั้นฉันคิดว่าเธอแค่พูดเล่นตามประสาหญิงสาววัย 20 เดี๋ยวพอเวลาเปลี่ยน ผู้คนในชีวิตเปลี่ยนหน้า เธอก็คงเปลี่ยนความคิดไปเองแหละ

                หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ชาร์ลอตต์เข้ามาทำงานเภสัชกรในร้านยาที่มีสาขาเครือข่ายตามห้างสรรพสินค้ามากมายในกรุงเทพฯ ความที่มีทักษะภาษาอังกฤษดี ทำให้เธอถูกบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่สาขาซึ่งมีชาวต่างชาติแวะเวียนเป็นลูกค้าไม่น้อยอย่างสาขาสยามดิสคัฟเวอรี่ ตอนนั้นฉันทำงานได้สองปีแล้ว (เพราะฉันสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก่อนเธอ และฉันก็เรียนแค่สี่ปี จึงจบเร็วกว่า) เช่าหอพักอยู่ใกล้ๆ ห้างสยามดิสคัฟเวอรี่นั่นแหละ ตกเย็นฉันจึงมักแวะเวียนไปหาเธอเสมอ ความที่เธอเป็นคนอ่อนหวาน คุยได้กับทุกคน ลูกค้าที่แวะมาซื้อยาจึงชอบเธอมากๆ บางคนเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ชอบมาคุยกับเธอ บางคนก็ทำงานอยู่องค์กรใหญ่ๆ ในตำแหน่งสูงๆ ฉันรู้เรื่องเหล่านี้เพราะคนเหล่านี้มอบนามบัตรให้เธอ แล้วชาร์ลอตต์นำนามบัตรมาให้ฉันดูอีกที จริงๆ ตอนนั้นเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกค้าแต่ละคนเป็นใครบ้าง โลกของเธอไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งและหน้าที่บนนามบัตร เธอแค่รู้สึกว่าใครมาซื้อยาเธอก็คุยด้วย เธอคุยได้เรื่อยเปื่อย เปิดกว้าง และเปิดใจกับทุกคน นั่นคือเสน่ห์ของเธอ

                ในละแวกบ้านเกิด ชาร์ลอตต์กับฉันเป็นเด็กที่ถูกมองว่าเรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ ลึกๆ หลายคนคงคาดหวังว่าเราคงดำเนินอาชีพการงานอันมั่นคง มั่งคั่ง และ สร้างชื่อเสียงให้ตนเองได้ในไม่ช้า แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังนั้น ทั้งฉันและชาร์ลอตต์เป็นเหมือนพวกที่แหกคอกออกจากกรอบที่ชุมชนเรามอบให้ จริงๆ วิถีที่เราสองคนเลือกก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากที่คนจบปริญญาตรีในกรุงเทพฯ เลือกกัน เราใช้ชีวิตอย่างเฮฮา มีความสุขและสนุกกับเงินเดือนไม่กี่หมื่น มีเงินเก็บน้อยๆ แถมโบนัสยิ่งน้อยกว่าน้อย ในช่วงวัย 20 ฉันกับเธอดำเนินชีวิตอย่างนั้นไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเรามีวิญญาณเรื่อยเปื่อยสูงยิ่ง ฉันนั้นไม่ค่อยเป็นไรหรอก เพราะฉันเรียนจบในคณะที่ถึงอย่างไรก็หาเงินเยอะๆ ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ชาร์ลอตต์นั้น ถ้าหากเธอจะเลือกบริษัทยาขนาดใหญ่ เธอก็คงทำรายได้ได้ถล่มทลาย แต่เหมือนเธอเอาใจออกห่างจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว

                หลังจากทำงานในร้านขายยาตามห้าง ก่อนจะเปลี่ยนไปทำร้านอื่นซึ่งอยู่ในห้างเช่นเดิม เวลาว่างเธอก็จะไปเที่ยวเล่นตามสถานที่น่ารักๆ ในกรุงเทพฯ หาเวลาทำเล็บ ซื้อหนังสือแฟชั่นมาอ่าน พลางเล่นแชทกับเพื่อนต่างชาติอย่างสม่ำเสมอ พอผ่านไปราวๆ 3 ปี เธอก็มีแฟนเป็นต่างชาติตาน้ำข้าว คบหากันสักระยะ ก่อนเข้าสู่กระบวนการเลิกรา หลังกระบวนการนี้ฉันเห็นเธอเปลี่ยนไปทำงานอีกที่หนึ่ง จริงๆ มันไม่เกี่ยวข้องกันหรอก มันเป็นแค่จังหวะชีวิตเท่านั้น แต่งานใหม่ของเธอทำให้ฉันประหลาดใจมาก เพราะคนเรียนจบเภสัชศาสตร์อย่างเธอ หันมาเป็นพนักงานต้อนรับในคลินิกทำฟันระดับอินเตอร์เนชั่นแนลแห่งหนึ่ง (ที่นี่มีหมอฟันเซเลบสาวสวยทำงานอยู่) ชาร์ลอตต์บอกว่าชอบงานนี้ เธอได้ใช้ภาษาอังกฤษ ที่ทำงานก็ไม่ไกลหอพัก อยู่ในระยะเดินได้ด้วยซ้ำ แถมรายได้ก็โอเคตามมาตรฐานชนชั้นกลางเมืองหลวง (แต่ก็น้อยกว่าเป็นเภสัชกรแน่นอน) ตอนนั้นฉันไม่ได้คัดค้านเธอหรอก แต่อดทึ่งกับการเลือกเส้นทางชีวิตของเธอไม่ได้

                พอชีวิตเลยหลักเบญจเพส ฉันกับชาร์ลอตต์ก็ห่างๆ กันอีกคราว พอได้ข่าวอีกที เธอก็ไปโผล่อยู่ที่ออสเตรเลียแล้ว ชาร์ลอตต์ส่งอีเมลมาเล่าว่าเธอเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนอะไรสักอย่าง จะอยู่ที่ออสเตรเลียราวๆ 1 ปี ระหว่างนั้นเธอก็เก็บเงินไปด้วย แล้วพอเธอกลับมาเมืองไทย สักแป๊บเธอก็ไปโผล่อยู่นิวยอร์ก คราวนี้เธอขอกู้แม่ไปเรียนมินิเอ็มบีเอ เรียนประมาณหนึ่งหรือปีครึ่งนี่แหละ เป็นคล้ายๆ internship ไม่ใช่ master’s degree แต่อย่างใด เธอบอกว่าจริงๆ ก็เรียนเหมือนกัน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นลงเรียนปริญญาโทจะต้องใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิมอีกราวๆ 7 แสนบาท เธอไม่มีเงินขนาดนั้น หลังจากลัลลาในเมืองแอปเปิลผลใหญ่ได้สักระยะ เธอก็กลับมาเมืองไทยเมื่อช่วงมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง

                ปีนี้ทั้งฉันและเธออายุ 31 ปี ต่างยังไม่ลงหลักปักฐานทั้งด้านการงานและชีวิตคู่ สิ่งนี้ดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับครอบครัวพวกเราไม่น้อย ตอนนี้ฉันกลับมาปักหลักอยู่บ้าน เขียนนิยายมา 5 เดือน แต่ดูเหมือนความสำเร็จยังดูห่างไกลยิ่งนัก ฉันปราศจากพรสวรรค์ มีเพียงพรแสวง ซึ่งนั่นยังคงไม่เพียงพอหรอก ฉันยังต้องทำงานหนักกว่านี้อีกเยอะ ฉันรู้ดี ส่วนชาร์ลอตต์นั้น เธอไม่อยากทำงานเภสัชอีกแล้ว แม่เธอให้รับราชการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเธอก็ไม่เอาด้วย เธอบอกว่า หลังการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่หลายปี ทำให้เธอกลายเป็นคนเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ เธอไม่รังเกียจชนบท แต่ตอนนี้เธอคิดภาพตัวเองทำงานที่บ้านไม่ออก เธอขอเข้าไปเป็นสาวสวยวัย 31 ในเมืองใหญ่แล้วกัน

                จากนั้นเธอก็เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นล่ามให้กับโครงการที่ส่งทหารอเมริกันเข้ามายังเมืองไทย ค่าตอบแทนถือว่าไม่น้อย แต่ลักษณะงานสัญญาระยะสั้น เธอทำงานนี้สองเดือน พอหมดสัญญาก็เริ่มหางานใหม่โดยสมัครเข้ายังหน่วยงานที่คล้ายๆ หอการค้าระหว่างยุโรปและอาเซียน เป็นองค์กรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก งานนี้เป็นสัญญาสองปี เงินเดือนคือครึ่งแสน แต่ถ้าเทียบว่าอายุ 31 ปี งานนี้ก็ไม่ได้ถือว่าให้ความมั่งคั่งหรือมั่นคงอะไรหรอกนะ (เพราะสัญญาสองปี) ชาร์ลอตต์ยังทำงานนี้ไม่ถึงสองสัปดาห์ดี เธอเล่าให้ฉันฟังทางโทรศัพท์ว่า ที่นี่มีแต่คนที่จบคณะรัฐศาสตร์หรืออักษร แถมทุกคนจบปริญญาโทหมดแล้ว ภาษาอังกฤษดีเลิศเลอทุกด้าน บางคนจบปริญญาโทสองใบ บางคนพูดภาษาที่สาม สี่ ห้า ได้ดีเหมือนเกิดที่นั่นด้วยซ้ำ ฉันคิดภาพองค์กรที่เธออยู่ออก เธอคาดคะเนให้ฉันฟังว่า น่าจะได้งานนี้เพราะจบเภสัชศาสตร์ ยุโรปเป็นทวีปที่มีบริษัทยาชื่อดังอยู่มาก แล้วบริษัทยาเหล่านี้ก็เข้ามาทำธุรกิจที่อาเซียนกันเยอะแยะ การมีบุคคลที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ แถมยังจบเภสัชศาสตร์ในองค์กร จะช่วยให้การประสานงานราบรื่นด้วยดีเป็นแน่ น่าแปลกที่สาขาวิชาที่เธอปฏิเสธนั้นกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เธอได้งานในหน่วยงานนานาชาติที่เธอต้องการเสียอย่างนั้น

ชาร์ลอตต์สนทนากับฉันผ่านสายโทรศัพท์ว่า ตอนนี้เราสองคนก็เพิ่งเริ่มต้นชีวิตกันเนอะ เพราะพอมองย้อนกลับไปในช่วงวัย 20 กว่าๆ เราก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะก่อร่างสร้างอาชีพอย่างเป็นจริงเป็นจังเหมือนที่คนอื่นเขาทำกันเลย ฉันเห็นด้วยกับเธอ ว่าเราสองคนเริ่มต้นปักหลักช้ากว่าคนอื่น แต่ทุกอย่างก็เป็นการเลือกของพวกเราเอง เราเลือกสิ่งที่เราคิดว่าเราสนุก เราสุข เราหัวเราะ ในวัยอย่างนั้น เราอยากพาตัวเองไปเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง โดยหวังว่าชีวิตจะได้ตกตะกอนแล้วมีคำตอบที่ชัดมากขึ้น ถึงวันนี้คำตอบของพวกเราก็ชัดแล้วล่ะ เราเป็นแค่คนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้ในโลกทุนนิยมเสรีใบนี้ เรากอดเกี่ยวความฝันของเรา โดยหวังว่ามันจะเป็นจริงในไม่ช้า ตอนท้ายของบทสนทนา เราต่างให้กำลังใจกันและกัน ฉันไม่รู้จริงๆ นะว่า ต่อแต่นี้ไป ชีวิตในช่วงเลข 3 ของฉันและเธอ จะประสบความสำเร็จไหม เราจะเป็นเหมือนเจ.เค.โรวลิ่ง หรือเปล่า ที่กว่าจะพบเจอสิ่งนั้นก็ต้องตกงาน หย่าร้าง ทะเลาะตบตีกับชีวิตอย่างหนักหน่วงเสียก่อน

แต่เอาเถอะ...เรามีประสบการณ์เป็นกระบุงโกย มีความสวยสง่าที่มากับวัย :) มีเทคนิคเด็ดๆ ไว้รับมือกับชีวิตตั้งมากมายอย่างที่ผู้หญิงวัยเลข 2 ไม่มี

แม้สิ่งเหล่านี้จะมาเยือนพร้อมกับไฝฝ้าและรอยตีนกาก็เหอะนะ >///<
               

ลงชื่อมิแรนด้า ฮอบส์

Tuesday, September 04, 2012

[People] หญิงสาวชื่อออม - ผู้คนที่อยากใ้ห้คุณรู้จัก








ฉันคิดว่าฉันรู้จักน้องออมในตอนที่ตัวเองเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วนะ

ตอนนั้นฉันเพิ่งเรียนจบหมาดๆ ได้งานทำในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลในองค์กรหนึ่งย่านสาธร เป็นงานที่ไม่เลวในสายตาของหลายคน เพราะองค์กรที่ทำตอนนั้นมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเข้ายากสุดๆ แห่งหนึ่ง (จริงๆ มันเป็นมายาคติน่ะ)

ฉันทำงานแล้วก็รู้สึกเบื่อๆ เลยลงเรียนเขียนบทและการแสดงกับพี่ที่เคยช่วยทำละครเวทีกันมาก่อน ในคลาสเรียนทุกวันเสาร์อาทิตย์นี่เองที่ฉันได้เจอน้องออม นิสิตสาวที่อยู่ๆ ก็ถามฉันว่า พี่ที่เคยทำละครเวที Hamburger Mob รึเปล่าคะ? จากนั้นเราก็คุยอะไรกันอีกเล็กน้อย ต่อมาภายหลังฉันก็พบว่าน้องออมสนิทสนมกับเพื่อนสนิทของฉันเป็นอย่างยิ่ง นาเดีย-เพื่อนสนิทคนนี้เองที่เชื่อมโยงให้ฉันกับน้องออมได้เจอและพูดคุยกันบ่อยๆ

จากนั้นฉันก็เปลี่ยนงาน หันมาเริ่มต้นอาชีพคนทำนิตยสาร ช่วงนั้นวุ่นๆ กับอะไรจิปาถะ จนทำให้ไม่ค่อยได้เจอน้องออมสักเท่าไหร่ แต่แปลกตรงที่ถ้าบังเอิญเจอกันตามห้าง (ซึ่งนานๆ จะเจอครั้ง) เรามักจะชวนกันไปจิบกาแฟ พูดคุยในหัวข้อที่สาวโสดไฟแรง (และไร้เดียงสาต่อโลก) มักจะคุยกัน เราคุยกันเรื่องเส้นทางอาชีพ ปรัชญาความรัก ความสัมพันธ์ของคนรอบข้างที่เราได้เรียนรู้ นักเขียนที่เราชื่นชอบ ถึงจะบังเอิญเจอกันไม่กี่ครั้งในรอบปี แต่แปลกที่เรามักจะคุยกันยาวและต่อกันติดเสมอ

จากนั้นฉันก็ทำนิตยสารมาเรื่อยๆ ขณะที่น้องออมก็เปลี่ยนจากการทำงานในวงการละครเวที ไปสู่วงการเพลงไทย น้องออมเป็นคนน่ารัก มีทักษะด้านการรวมคนได้อย่างยอดเยี่ยม ตอนนั้นออมได้เข้าไปดูแลวงดนตรีลาววงหนึ่งที่กำลังดังในไทย ค่ายเพลงที่ลาวเห็นแววว่าออมมีความสามารถด้านการจัดการ จึงชวนออมไปทำงานด้วยที่เวียงจันทร์ ที่นั่นออมถือเป็นเจ้าแม่ในวงการดนตรีสมัยใหม่ของลาวก็ว่าได้ ช่วงนั้นฉันมักจะแซวน้องออมบ่อยๆ ว่าเป็น พี่ฉอดแห่งวงการเพลงลาวไปเสียแล้ว อิทธิพลของออมในตอนนั้นประมาณนั้นเลยแหละ

ต่อมาออมก็กลับมาอยู่เมืองไทย มาทำประสานงานให้ค่ายเพลงสักค่าย ก่อนจะกลับไปช่วยที่บ้านที่เชียงรายดูแลสวนส้ม และธุรกิจทางเหนือ ขอบอกว่าโปรไฟล์ทางบ้านของออมไม่ใช่ธรรมดา ออมเป็นคนที่ถ้าอยากจะไปเรียนต่อโทและเอกที่เมืองนอกก็ทำได้ไม่ยากเลย แต่ออมก็เลือกจะทำงานและทำสิ่งที่คิดว่าตนเองรักอยู่ที่เมืองไทย ... เป็นสิ่งที่ตอนนั้น คนซึ่งอยากไปเรียนต่อเมืองนอกเมืองนาอย่างฉันยอมรับว่าไม่เข้าใจวิธีคิดของออมเลย

จากนั้นเราก็ห่างๆ กันไป นานๆ จะเจอกันครั้งหนึ่ง จนฉันย้ายกลับมาอยู่บ้านนอก และออมย้ายจากเชียงรายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ อีกหน ออมบอกว่าอยากเปิดโรงเรียนอนุบาล ... นี่ไม่ใช่ความฝันเพ้อเจ้อแต่อย่างใด เพราะออมเรียนจบครุศาสตร์ ปฐมวัย มาเชียวนะ ออมน่ะรับมือกับเด็กๆ ได้สบายมาก แถมเธอยังมีปณิธานแรงกล้าว่าอยากทำงานสายนี้เพราะเป็นการปูรากฐานให้กับชีวิตคนคนหนึ่ง ตอนนั้นฉันเอาใจช่วยออมอยู่ห่างๆ จนต่อมารู้ว่า โครงการเปิดโรงเรียนของออมหยุดชะงัก เพราะเพื่อนร่วมคิดเปลี่ยนใจไปทำงานประจำในองค์กรใหญ่ ชีวิตสาวออฟฟิศเปี่ยมสีสันดึงดูดใจเพื่อนมากกว่า ออมเล่าให้ฟังในวันหนึ่ง

ฉันกลับไปเจอออมอีกทีในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การลงกรุงเทพฯ หนนั้น ฉันนัดหมายว่าจะคุยเรื่องจิปาถะกับออมเช่นเคย แต่เพียงไม่กี่วันก่อนฉันจะไปเจอออม ฉันได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่โรส แห่งเรนโบว์ รูม ซึ่งเป็นศูนย์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีภาวะความต้องการพิเศษ ฉันประทับใจพี่โรสมานานแล้ว เฝ้ารอโอกาสที่จะได้สัมภาษณ์พี่โรสมาตลอด พอสบช่อง นิตยสารเขาไฟเขียวให้พูดคุยกับพี่โรสได้ ฉันก็ลุยเลย เป็นการพูดคุยที่ฉันประทับใจและยังจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

แล้วถัดมาอีก 3-4 วันฉันก็นัดจิบกาแฟกับน้องออม เราคุยกันหลากหลายประเด็นมาก ตั้งแต่เรื่องน้ำท่วมเมื่อปีกลาย เส้นทางชีวิตที่กำลังก้าวเดินไปในวัย 30 ความฝันใฝ่ที่เราอยากทำให้เป็นจริง จนสักพักเราก็คุยกันเรื่องโรงเรียนอนุบาล และเด็กๆ แล้วอยู่ๆ ฉันก็เล่าเรื่องที่เพิ่งไปคุยกับพี่โรสแห่งเรนโบว์ รูม ให้ออมฟัง ออมก็เล่าถึงพี่เกี้ยว พงษ์ไพบูลย์ (ลูกสาวคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์) ซึ่งออมได้รู้จักจากการทำงานละครเวทีให้ฟังว่า พี่เกี้ยว ก็เคยเล่าถึงเรนโบว์ รูม ไว้ แล้วในตอนนั้น เรานั่งคุยกันอยู่ย่านอารีย์ ซึ่งมีร้านหนังสือของพี่เกี้ยวอยู่แถวนั้น พอพี่เกี้ยวเดินผ่านมา เราเลยเดินเข้าไปสวัสดี พอคุยกันถึงเรื่องเรนโบว์รูม พี่เกี้ยวก็บอกว่าสนิทสนมกับพี่โรส เห็นว่าพี่โรสต้องการคนมาช่วยทำงานอีก 1 คน ซึ่งด้วยความพอเหมาะพอเจาะทั้งหมด ทั้งออมชอบทำงานกับเด็ก ออมเก่งด้านประสานงานกับบุคคล ออมจบปฐมวัยมา พี่เกี้ยวจึงโทรแนะนำออมให้พี่โรสรู้จัก โดยใช้ประโยคว่า ฉันมีนางฟ้ามาให้เธอ

วันรุ่งขึ้น ฉัน ออม นาเดีย (อดีตคนในวงการละครเวทีที่ผันตัวมาทำงานพีอาร์) และน้องฝ้าย (รุ่นน้องของออมที่ครุศาสตร์) ก็แวะไปเรนโบว์รูม พี่โรสกับออมคุยกันได้เข้าขามากๆ ฉันคิดว่าพี่โรสมองออกว่าออมเหมาะกับการทำงานที่นี่ ในการพบกันหนนั้น พี่โรสเชื้อเชิญออมให้ลองมาทำงานด้วยกันดูสัก 1 สัปดาห์ ลองดูว่าสุดท้ายออมจะชอบจริงไหม หลังการเชื้อเชิญหนนั้นฉันไม่ได้ตามข่าวออมอีกเลย เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องกลับต่างจังหวัดและจัดการเรื่องส่วนตัว พอรู้ตัวอีกทีก็ต้นเดือนกรกฎคมแล้ว เดือนนั้นนั่นเองที่ฉันคิดถึงออม จึงส่งข้อความไปถามไถ่

ออมเล่าว่า ตอนนี้ออมได้เข้าไปทำงานในตำแหน่ง Communication Manager ที่เดอะเรนโบว์รูมแล้ว ออมมีความสุขกับงานมาก จริงๆ ด้วยศักยภาพของออม ออมสามารถก้าวไปทำงานในองค์กรใหญ่โต เม็ดเงินสูงได้ แต่ออมเลือกจะไม่ทำ ออมค้นพบว่าตัวเองอยากทำงานกับเด็ก และในอนาคตก็คงเปิดโรงเรียนอนุบาลให้จงได้ เป็นความฝันที่ฉันยังคงเอาใจช่วยออมเสมอ ออมทำได้แน่ๆ ... ในสักวันหนึ่งอันใกล้นี้แหละ

ตอนที่ฉันเจอออม เราทั้งคู่ต่างยังคงมีด้านที่ไร้เดียงสาต่อโลก ตอนนี้ฉันพูดไม่ได้เต็มปากว่าเรายังคงเป็นผู้หญิงในวันก่อนไหม แต่ขณะเดียวกัน เราก็ยังเป็นคนที่มีความฝันใฝ่และกำลังพยายามทำมันให้ได้ดีอยู่ ความฝันของออมตอนนี้คือได้อยู่กับเด็กและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นผ่านองค์ประกอบเหล่านี้ เป็นจุดยืนอันแน่วแน่ที่ฉันชื่นชม หลงรัก และอยากบอกว่าออมกล้าหาญและสง่างามมาก

มันคงเป็นความกล้าหาญและสง่างามที่วันและวัยมอบให้แก่เราทุกคนแหละมั้ง...คิดว่านะ

Sunday, September 02, 2012

[บทความส่วนตัว] : รีวิวหนังสือ: เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด



รีวิวหนังสือ: เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด



เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด 

         
      ช่วงงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านมา บูธอมรินทร์มีหนังสือแปลจากเกาหลีเล่มหนึ่งวางขาย ปกหนังสือเล่มนี้เป็นสีส้มเปล่งประกายสะดุดสายตา แถมยังมีชื่อดึงดูดใจให้หยิบพลิกดู เล่มที่ว่าคือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เขียนโดย คิมรันโด อาจารย์มหาวิทยาลัยโซล คุณพ่อของลูกชายวัย 20 ปีและลูกชายซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น หนังสือเล่มนี้สร้างปรากฏการณ์ขายได้มากกว่า1 ล้านเล่มภายใน 8 เดือน ถือเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ตั้งแต่ช่วงแรกที่วางแผง (กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554) ไปจนถึงช่วงกรกฎาคมปีเดียวกัน* ทั้งยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงจากคนทั่วทั้งเกาหลี เซเลบริตี้ชื่อดังของประเทศอย่างคิมแจจุง วง JYJ ยังเคยนำมาทวีตแนะนำให้แฟนคลับซื้อหามาอ่านด้วย    

         
ในเมืองไทย หนังสือเล่มนี้ถูกจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ในเครืออมรินทร์ ข้างหลังเล่มเขียนประเภทหมวดหมู่หนังสือไว้ว่าอยู่ใน “หมวดจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง” ซึ่งชวนให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่าหนังสือที่อาจารย์คิมรันโดเขียนขึ้นนี้ เป็นหนังสือแนว “ฮาวทู” ทว่าหนังสือปกสีส้มสดใสเล่มนี้ ช่างคิด กินใจ และลึกซึ้งกว่านั้น เพราะเป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นจากปลายปากกาของคนในช่วงวัยปลาย 40 ผู้ผ่านโลกมาระยะหนึ่ง ทั้งผู้เขียนยังเป็นคุณพ่อของลูกชายวัยรุ่น เป็นอาจารย์ของคนหนุ่มสาวจำนวนมาก เชื่อว่าเนื้อหาอันชวนกระตุกต่อมคิดและแสนเข้าใจโลกยุคใหม่ภายในเล่ม ถูกตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อลูกชายและลูกศิษย์ที่อยู่รายรอบชีวิตนั่นเอง  

              
ว่ากันตามตรงแล้ว ในแผงหนังสือบ้านเรานั้น มีหนังสือในเชิงเตือนใจและให้ข้อคิดออกมามากมาย (โดยเฉพาะแก่คนหนุ่มสาวผู้สับสนและเจ็บปวด) แล้วอะไรที่ทำให้ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด ของคิมรันโด น่าประทับใจและแตกต่างจากเล่มอื่น คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ เพราะหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยความเอื้ออารี ให้ความหวัง แต่ก็ยังเข้าใจโลก ตัวหนังสือของอาจารย์คิมเรียบง่าย ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่ต้องปีนบันไดตีความหลายชั้น ทั้งยังไม่พยายามจะ “แนว” จะ “เก๋” จะ “เท่” ไปจนถึง “เท่มาก” แบบที่หนังสือสมัยใหม่บางเล่มนิยมเป็น ทุกตัวอักษรของอาจารย์คิมสะท้อนความรักความเมตตา ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงความช่างอ่าน ช่างคิด ช่างใฝ่รู้ของท่านด้วย สังเกตจากการยกตัวอย่างข้อคิดเตือนใจที่ท่านหยิบยกมาจากหนังบ้าง จากหนังสือบ้าง จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์บ้าง จากศิลปะบ้าง จากดนตรีบ้าง แม้กระทั่งเรื่องที่ศิลปินชื่อดังของเกาหลีใต้ฟ้องร้องต้นสังกัดด้วยกรณี สัญญาทาส อาจารย์คิมก็ยังทราบและหยิบมาเขียนเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยถึง ซึ่งนั่นสะท้อนถึงความช่างสังเกตปรากฏการณ์ในสังคมเกาหลีใต้และโลกรอบตัวของ ท่านได้เป็นอย่างดี    

        
แม้จะไม่ “แนว” แต่หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ “เชย” เรียกได้ว่าห่างไกลจากความล้าสมัยไปหลายล้านขุม เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เป็นเหมือนจดหมายที่เขียนถึงวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวด้วยความรัก เป็นจดหมายที่เต็มไปด้วยความจริงใจและอบอุ่น ตัวหนังสือของคิมรันโดได้ถักทอข้อคิดดีๆ และเรียงร้อยสิ่งที่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวควรรู้ออกมา ไม่ใช่สิ …ไม่ใช่สิ่งที่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวควรรู้เท่านั้น หลายเรื่องเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรรู้ด้วยซ้ำ 

            
หนังสือแบ่งออกเป็น 4 พาร์ท 42 บท (ไม่รวมถึงบทส่งท้าย ซึ่งเขียนถึงลูกชายที่รักของพ่อ) แค่บทแรก อาจารย์คิมก็ปล่อยหมัดฮุกตั้งคำถามให้เราฉุกคิดว่า “นาฬิกาชีวิต: ตอนนี้ชีวิตของคุณกี่โมงแล้ว” โดยท่านถามว่า หากเปรียบชีวิตเหมือนนาฬิกาในหนึ่งวัน ตั้งค่าให้อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี ขณะนี้ชีวิตเรากี่โมงแล้ว ซึ่งคำตอบที่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะชีวิตที่เราคิดว่าดำเนินมานานแสนนานแล้วนั้น อาจอยู่ในช่วงเช้าตรู่ของวันก็เป็นได้ เพราะหากคุณอายุ 20 ปี นาฬิกาชีวิตของคุณจะตรงกับเวลา 6 โมงเช้า ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น …หากอายุ 30 ปี นาฬิกาชีวิตจะตรงกับ 9 โมงเช้า อันถือเป็นเวลาเริ่มงานของหลายคน …หากอายุ 35 ปี นาฬิกาชีวิตจะอยู่ที่ 10 โมงครึ่ง ซึ่งถือเป็นยามสายที่ร่างกายพร้อมทำอะไรหลายอย่างแล้ว …และหากอายุ 40 ปี นาฬิกาชีวิตจะตรงกับตอนเที่ยง พระอาทิตย์ยังคงร้อนแรงและเหลือเวลาอีกมากมายกว่าจะหมดวัน …เห็นไหมว่าชีวิตไม่ได้ดำเนินมายาวไกลจนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เสียหน่อย          

   
ในบทที่ 3 คิมโดรันพูดถึงเรื่อง “ฤดูกาลที่ตัวคุณผลิบาน” โดยเล่าถึงดอกไม้แต่ละชนิดซึ่งผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ดอกบ๊วย ดอกซากุระ ดอกกุหลาบ ดอกทานตะวัน ดอกเบญจมาศ ดอกคามิลเลีย ดอกไม้เหล่านี้ล้วนผลิบานอย่างงดงามในช่วงเดือนที่แตกต่างกัน ดอกไม้ต่างมีช่วงเวลาเปล่งประกายเป็นของตัวเอง เช่นกันกับคนเรา เขายังยกตัวอย่างคิมแดจุง อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถูกจำคุกในวัยที่อายุยังน้อยด้วยเหตุผลความขัดแย้งทางการเมือง เรียกได้ว่าดอกไม้ของท่านไม่ได้ผลิบานในช่วงวัยเยาว์ แต่ในที่สุดท่านก็ได้เป็นประธานาธิบดี และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพขณะอายุ 75 ปี              

   “คุณกำลังท้อแท้อยู่ใช่ไหม ขณะที่เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันเริ่มทยอยประสบความสำเร็จ มีเพียงคุณเท่านั้นที่ยังดูเลื่อนลอยอยู่ใช่ไหม ถ้าคุณกำลังคิดแบบนี้ อย่าลืมเรื่องที่ผมเพิ่งบอกไป ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ตอนนี้อาจยังไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูกาลนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ต้องรอคอย จงเตรียมตัวให้พร้อม” คิมรันโดเขียนไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของบทที่ 3 หลายคนหลงรัก (หนังสือ) เขาก็จากบทนี้               


บทที่ 21 ก็เป็นอีกบทที่น่าประทับใจ บทนี้มีชื่อยาวเหยียดว่า “การเลิกล้มภายในสามวันเป็นเรื่องปกติ เพราะรูปแบบของชีวิตไม่ใช่การตัดสินใจที่แน่วแน่ แต่เป็นการฝึกหัด” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้มเลิกความตั้งใจกลางคันทั้งที่เริ่มต้นอย่าง มุ่งมั่น อาจารย์คิมชี้แนะว่า ทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือคนชรา ร่ำรวยหรือยากจน หรือแม้กระทั่งคนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด ต่างก็สามารถล้มเลิกสิ่งที่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ได้ภายใน 3 วันเหมือนกันหมด เหตุเพราะมักติดกับดักพฤติกรรมเคยชิน หากต้องการปรับปรุงพฤติกรรมเคยชิน ต้องฝึกทำสิ่งนั้นซ้ำๆ อย่างน้อยที่สุดหนึ่งเดือน ไม่ใช่ภายใน 3 วัน แต่ต้องทำซ้ำๆ ตลอด 30 วัน คาถาสำคัญที่อาจารย์ขวัญใจนักศึกษาเกาหลีใต้ได้ให้ไว้ในบทนี้คือ ไม่ต้องรอพรุ่งนี้ แต่ต้องลงมือทำในวันนี้ทีละเล็กทีละน้อย


 อีกบทที่ไม่อยากให้พลาดก็คือ บทที่ 40 เรื่อง “จงขึ้นรถไฟชีวิตสักครั้ง” โดยอาจารย์คิมเขียนแนะนำนักศึกษาที่กำลังจะก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงานว่า บริษัทต่างๆ อยากได้คนที่ทำงานเป็นจริงๆ ไม่ใช่คนที่มีลิสต์ความสามารถในใบสมัครงานยาวเป็นหางว่าวแต่ชีวิตนี้ไม่เคย ทำงานจริงจังเสียที ดังนั้นอย่ามัวแต่ลังเล จงขึ้นรถไฟชีวิตเพื่อเริ่มต้นเดินทาง เพราะงานแรกไม่ใช่ตัวตัดสินความสำเร็จของชีวิต              
       ”ความจริงแล้วงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่งานแรก แต่เป็นงานสุดท้าย อย่ารีบร้อนตัดสินผลแพ้ชนะจากการประลองครั้งแรก การแข่งขันต้องดูนานๆ ถึงจะรู้ว่าท้ายที่สุดใครเป็นผู้ชนะ …สิ่งสำคัญไม่ใช่จะออกเดินทางแบบไหน แต่จะก้าวออกเดินทางในชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร”



 เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เป็นหนังสือที่โด่งดังและมีอิทธิพลต่อนักศึกษาเกาหลีในปีที่แล้ว (พ.ศ.2554) เป็นอย่างมาก เหตุผลที่ตัวอักษรของคิมรันโดสามารถสร้างกระแสต่อสังคมได้ในวงกว้าง เพราะสังคมเกาหลีใต้นั้นเต็มไปด้วยการแข่งขัน เด็กแทบทุกคนครอบครองเป้าหมายเดียวกันคือหักโหมกวดวิชาเพื่อสอบเข้า มหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้ โดยคิดว่านั่นคือความสำเร็จอันจะนำมาซึ่งความสุข แต่อาจารย์คิมผู้ซึ่งผ่านโลกมาใกล้วัย 50 ปีรู้ดีว่า นั่นคือเป้าหมายที่มีข้อบกพร่อง ความสำเร็จกับความสุขอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เขาจึงลุกมาเขียนหนังสือเพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่เขาเคยประสบและเรียนรู้ เพื่อแบ่งปันความจริงและความเจ็บปวดในชีวิตนั่นเอง 
            
เพราะความเจ็บปวดเป็นของคนทุกวัย ไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว จะสวยธรรมชาติหรือหล่อด้วยกลูต้า จะเป็นพนักงานออฟฟิศผู้สับสนหรือเป็นเซเลบทวิตเตอร์ จะเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวในตลาดเล็กๆ หรือเป็นผู้กุมนโยบายสำคัญของประเทศ จะเป็นผู้ชนะรางวัลเพลงแกรมมี่อะวอร์ดส์หรือผู้ถูกฉกชิงของรัก …ทุกคนล้วนเคยครอบครองความเจ็บปวดด้วยกันทั้งนั้น 
            
หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงเหมาะกับวัยรุ่น หากแต่ยังเหมาะกับทุกคน ทุกคนที่อยากแสวงหาแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่อบอุ่นและแสนอารี





 ข้อมูลหนังสือ: เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เขียนโดย คิมรันโด แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์ ราคา 199 บาท สำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์ มีนาคม พ.ศ.2555

[งานเขียนส่วนตัว] : รีวิวที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและนักเขียน : อลิซาเบท สเตราต์ กับงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตที่แสนอัศจรรย์


 
 
 
อลิซาเบท สเตราต์ กับงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตที่แสนอัศจรรย์   

          
หากเปรียบเทียบกับชื่อเสียงเรียงนามของสเตฟานี เมเยอร์ ผู้เขียน ทไวไลท์ซีรีย์ หรือซูซานน์ คอลลินส์ ผู้เขียนหนังสือชุด เดอะฮังเกอร์เกมส์ แล้ว ชื่อของเอลิซาเบท สเตราต์ นักเขียนหญิงอเมริกันวัย 56 ปี คงไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไหร่นัก สเตราต์เขียนนวนิยายมาแล้ว 3 เล่ม เพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเรื่องเดียว คือ โอลีฟ คิตเตอริดจ์ (Olive Kitteridge) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2008 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประเภทนวนิยายในปี ค.ศ. 2009 หนังสือเรื่องก่อนหน้าของเธอคือ Amy and Isabelle (ค.ศ. 1998) และ Abide with Me (ค.ศ. 2006) ซึ่งทุกเล่มล้วนมีฉากหลังเกิดขึ้นในรัฐเมน รัฐที่เธอเกิดและเติบโตขึ้นมานั่นเอง



 เมืองแห่งวัยเยาว์
                 สเตราต์ถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งครัด บ้านเกิดของเธอคือเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐเมน พ่อเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย แม่เป็นครูสอนการเขียนที่โรงเรียนมัธยมปลาย เธอเล่าว่าเป็นเรื่องแปลกที่แม่เธอสอนการเขียนแต่ไม่เคยเขียนหนังสือเป็น เล่มออกมา* ทว่าเป็นแม่นั่นเองที่ซื้อสมุดบันทึกมาให้ตอนสเตราต์ยังเล็ก และบอกให้เธอบันทึกสิ่งที่เห็นออกมา ความรักการอ่านก่อตัวขึ้นเป็นนิสัยของสเตราต์ เธอรู้ตัวว่าอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยรุ่น และเริ่มส่งเรื่องสั้นไปให้นิตยสารต่างๆ ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่กว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกจะถูกตีพิมพ์ก็ตอนเธออายุ 26 ปี และได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกตอนอายุ 42 ปี     
       
สเตราต์เรียนจบปริญญาตรีด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยเบตส์ ก่อนที่จะทำงานหลากหลายอย่าง และเรียนต่อด้านกฎหมาย แต่พบว่าเธอไม่เหมาะกับงานด้านนี้ หลังเรียนจบเธอย้ายไปอยู่นิวยอร์ก แต่งงานกับสามีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกฎหมาย (ก่อนที่จะหย่าร้างในภายหลัง) เริ่มงานสอนหนังสือที่วิทยาลัยชุมชน และเขียนหนังสืออยู่เสมอ แต่สเตราต์ไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่เขียน เธอรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไปในเรื่องที่เธอพยายามเล่า สเตราต์จึงตัดสินใจลงเรียนคลาสเดี่ยวไมโครโฟนเพื่อค้นหาสิ่งนั้น ก่อนจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เธอเล่าได้อย่างลื่นไหลก็คือเรื่องของบ้านเกิดเมือง นอน เธอจำเป็นต้องกลับไปเมืองแห่งวัยเยาว์และเล่าเรื่องของผู้คนในเมืองแห่ง นั้น**



แรงบันดาลใจจากถิ่นกำเนิดคือวัตถุดิบสำคัญ 
           
นวนิยายทุกเรื่องล้วนต้องใช้วัตถุดิบ บางคนได้วัตถุดิบจากการอ่าน บ้างได้จากประสบการณ์ชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกเรื่องต้องนำมาดัดแปลงและปรุงแต่งเติมจินตนาการเพิ่ม ทั้งนั้น แน่นอนว่าสเตราต์ใช้สิ่งที่เธอพบเจอจากเมืองเกิดมาเป็นแรงบันดาลใจ ผลลัพธ์ก็คือเรื่องเล่าทรงพลังอย่าง Amy and Isabelle เรื่องราวของคู่แม่ลูกในเมืองเล็กๆ ในรัฐเมนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันสักอย่าง สเตราต์ใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องแรกชิ้นนี้นานเกือบ 7 ปี ครั้นปี ค.ศ. 2006 เธอตีพิมพ์นวนิยายเล่มที่สองชื่อ Abide with Me คราวนี้เธอเปลี่ยนให้ตัวละครหลักของเรื่องเป็นผู้ชาย เรื่องราวเกิดในยุค 50 ตัวละครไทเลอร์ แคสกีย์ (Tylor Caskey) คือผู้ว่าการที่ต้องทนทุกข์จากการสูญเสียสิ่งที่รักในเมืองเล็กๆ แถบเวสต์แอนเน็ตต์ รัฐเมน เรื่องนี้ถือเป็นนวนิยายขายดี และเป็นอีกครั้งที่สเตราต์เล่าเรื่องของตัวละครธรรมดาให้กลับมีเสน่ห์ สะเทือนอารมณ์ แต่ก็จับหัวใจคนอ่านได้อยู่หมัดจากชีวิตสามัญนี้



โอลีฟ คิตเตอริดจ์: หลากชีวิตในเมืองครอสบี้  
        
 แม่ของเอลิซาเบท สเตราต์ บอกกับเธอหลังได้อ่าน โอลีฟ คิตเตอริดจ์ ว่า “นี่เป็นนวนิยายที่ดีที่สุดของลูก”***  ซึ่งนักอ่านหลายคนก็ลงความเห็นเช่นนั้น หลายคนหลงรักหนังสือเล่มนี้สุดหัวใจ นวนิยายเรื่องนี้ถูกร้อยเรียงขึ้นจากเรื่องสั้น 13 ชุด โดยมีตัวละคร “โอลีฟ คิตเตอริดจ์” ครูสอนเลขในโรงเรียนประจำเมืองครอสบี้ รัฐเมน เป็นศูนย์กลางและหัวใจของเรื่อง โอลีฟเป็นผู้หญิงร่างสูงใหญ่ ปากร้าย เธอรักสามีและลูกชาย แต่ไม่แสดงออก สามีเธอคือ เฮนรี คิตเตอริดจ์ เป็นเภสัชกรในเมืองที่อยู่ถัดไป ทั้งคู่มีลูกชายหนึ่งคนคือ คริสโตเฟอร์ ผู้เติบใหญ่มาเป็นคุณหมอรักษาเท้า และย้ายจากพ่อแม่ไปอยู่ไกลถึงแคลิฟอร์เนียก่อนปักหลักแต่งงานครั้งที่สองที่ นิวยอร์ก คริสโตเฟอร์ไม่ค่อยโทรหาแม่ เขาให้เหตุผลว่า “แม่มักทำให้คนรอบตัวรู้สึกแย่” แน่นอนว่าโอลีฟงุนงงและรู้สึกเจ็บปวดกับประโยคนั้น 
           
นอกจากครอบครัวของโอลีฟแล้ว เรายังพบเจอตัวละครผู้มีร่องรอยแตกร้าวอีกหลายชีวิต เช่นนักดนตรีในบาร์ที่ถูกความรักในอดีตตามหลอกหลอน ว่าที่จิตแพทย์ที่หมดแรงในการมีชีวิตอยู่ แม่ผู้อมทุกข์จากการแท้งลูก คู่แต่งงานที่ลืมเลือนไปแล้วว่าความหวานหอมของชีวิตคู่เป็นแบบไหน ชายชราการศึกษาสูงผู้ไม่แคร์ความตายแต่หวาดกลัวการถูกทิ้งไว้คนเดียว เป็นต้น ดูเหมือนทุกคนในเมืองครอสบี้ต่างมีสงครามส่วนตัวที่ต้องต่อสู้ นี่คือเรื่องราวของคนตัวเล็กที่ดิ้นรนเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งเมื่อได้หยุดอ่าน ก็คล้ายกับเรากำลังส่องกระจกเห็นชีวิตเราอยู่ในนั้น แม้อาจเป็นเพียงบางเสี้ยวมุมก็ตามที           
 
เอลิซาเบท สเตราต์ เขียนเรื่องราวเหล่านี้ได้ลึกซึ้งมาก อาจเพราะเธอสนใจชีวิตคนมานานมากแล้ว ในเว็บไซต์ส่วนตัวของเธอเขียนระบุไว้ว่า “สำหรับฉันแล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจมากเท่ากับชีวิตคน” และใน โอลีฟ คิตเตอริดจ์ สเตราต์ก็สะท้อนชีวิตสามัญของผู้คนหลากหลายออกมาได้อย่างถึงแก่น ว่าเราทุกคนล้วนหวาดกลัวความเดียวดาย เราล้วนต้องการความรัก …หรืออย่างน้อยที่สุด เราล้วนอยากมีใครสักคนที่คอยรับฟัง     
       
นี่คืองานเขียนเกี่ยวกับชีวิตสามัญที่แสนอัศจรรย์เล่มหนึ่ง 




หนังสือของเอลิซาเบท สเตราต์ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษไทยเรียบร้อยแล้วคือ โอลีฟ คิตเตอริดจ์ แปลโดย อิศรา ราคา 200 บาท พิมพ์ครั้งแรกโดยแพรวสำนักพิมพ์ ธันวาคม พ.ศ. 2554 





อ้างอิง

*สัมภาษณ์กับบ็อบ ทอมป์สัน, วอชิงตันโพสต์, 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2009
**เรื่องเดียวกัน                   
***เรื่องเดียวกัน