Sunday, September 02, 2012

[งานเขียนส่วนตัว] : รีวิวที่เกี่ยวข้องกับหนังสือและนักเขียน : อลิซาเบท สเตราต์ กับงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตที่แสนอัศจรรย์


 
 
 
อลิซาเบท สเตราต์ กับงานเขียนเกี่ยวกับชีวิตที่แสนอัศจรรย์   

          
หากเปรียบเทียบกับชื่อเสียงเรียงนามของสเตฟานี เมเยอร์ ผู้เขียน ทไวไลท์ซีรีย์ หรือซูซานน์ คอลลินส์ ผู้เขียนหนังสือชุด เดอะฮังเกอร์เกมส์ แล้ว ชื่อของเอลิซาเบท สเตราต์ นักเขียนหญิงอเมริกันวัย 56 ปี คงไม่คุ้นหูคนไทยเท่าไหร่นัก สเตราต์เขียนนวนิยายมาแล้ว 3 เล่ม เพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเรื่องเดียว คือ โอลีฟ คิตเตอริดจ์ (Olive Kitteridge) หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2008 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประเภทนวนิยายในปี ค.ศ. 2009 หนังสือเรื่องก่อนหน้าของเธอคือ Amy and Isabelle (ค.ศ. 1998) และ Abide with Me (ค.ศ. 2006) ซึ่งทุกเล่มล้วนมีฉากหลังเกิดขึ้นในรัฐเมน รัฐที่เธอเกิดและเติบโตขึ้นมานั่นเอง



 เมืองแห่งวัยเยาว์
                 สเตราต์ถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเคร่งครัด บ้านเกิดของเธอคือเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐเมน พ่อเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย แม่เป็นครูสอนการเขียนที่โรงเรียนมัธยมปลาย เธอเล่าว่าเป็นเรื่องแปลกที่แม่เธอสอนการเขียนแต่ไม่เคยเขียนหนังสือเป็น เล่มออกมา* ทว่าเป็นแม่นั่นเองที่ซื้อสมุดบันทึกมาให้ตอนสเตราต์ยังเล็ก และบอกให้เธอบันทึกสิ่งที่เห็นออกมา ความรักการอ่านก่อตัวขึ้นเป็นนิสัยของสเตราต์ เธอรู้ตัวว่าอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยรุ่น และเริ่มส่งเรื่องสั้นไปให้นิตยสารต่างๆ ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่กว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกจะถูกตีพิมพ์ก็ตอนเธออายุ 26 ปี และได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกตอนอายุ 42 ปี     
       
สเตราต์เรียนจบปริญญาตรีด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยเบตส์ ก่อนที่จะทำงานหลากหลายอย่าง และเรียนต่อด้านกฎหมาย แต่พบว่าเธอไม่เหมาะกับงานด้านนี้ หลังเรียนจบเธอย้ายไปอยู่นิวยอร์ก แต่งงานกับสามีซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกฎหมาย (ก่อนที่จะหย่าร้างในภายหลัง) เริ่มงานสอนหนังสือที่วิทยาลัยชุมชน และเขียนหนังสืออยู่เสมอ แต่สเตราต์ไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่เขียน เธอรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไปในเรื่องที่เธอพยายามเล่า สเตราต์จึงตัดสินใจลงเรียนคลาสเดี่ยวไมโครโฟนเพื่อค้นหาสิ่งนั้น ก่อนจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เธอเล่าได้อย่างลื่นไหลก็คือเรื่องของบ้านเกิดเมือง นอน เธอจำเป็นต้องกลับไปเมืองแห่งวัยเยาว์และเล่าเรื่องของผู้คนในเมืองแห่ง นั้น**



แรงบันดาลใจจากถิ่นกำเนิดคือวัตถุดิบสำคัญ 
           
นวนิยายทุกเรื่องล้วนต้องใช้วัตถุดิบ บางคนได้วัตถุดิบจากการอ่าน บ้างได้จากประสบการณ์ชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกเรื่องต้องนำมาดัดแปลงและปรุงแต่งเติมจินตนาการเพิ่ม ทั้งนั้น แน่นอนว่าสเตราต์ใช้สิ่งที่เธอพบเจอจากเมืองเกิดมาเป็นแรงบันดาลใจ ผลลัพธ์ก็คือเรื่องเล่าทรงพลังอย่าง Amy and Isabelle เรื่องราวของคู่แม่ลูกในเมืองเล็กๆ ในรัฐเมนที่ไม่มีอะไรเหมือนกันสักอย่าง สเตราต์ใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องแรกชิ้นนี้นานเกือบ 7 ปี ครั้นปี ค.ศ. 2006 เธอตีพิมพ์นวนิยายเล่มที่สองชื่อ Abide with Me คราวนี้เธอเปลี่ยนให้ตัวละครหลักของเรื่องเป็นผู้ชาย เรื่องราวเกิดในยุค 50 ตัวละครไทเลอร์ แคสกีย์ (Tylor Caskey) คือผู้ว่าการที่ต้องทนทุกข์จากการสูญเสียสิ่งที่รักในเมืองเล็กๆ แถบเวสต์แอนเน็ตต์ รัฐเมน เรื่องนี้ถือเป็นนวนิยายขายดี และเป็นอีกครั้งที่สเตราต์เล่าเรื่องของตัวละครธรรมดาให้กลับมีเสน่ห์ สะเทือนอารมณ์ แต่ก็จับหัวใจคนอ่านได้อยู่หมัดจากชีวิตสามัญนี้



โอลีฟ คิตเตอริดจ์: หลากชีวิตในเมืองครอสบี้  
        
 แม่ของเอลิซาเบท สเตราต์ บอกกับเธอหลังได้อ่าน โอลีฟ คิตเตอริดจ์ ว่า “นี่เป็นนวนิยายที่ดีที่สุดของลูก”***  ซึ่งนักอ่านหลายคนก็ลงความเห็นเช่นนั้น หลายคนหลงรักหนังสือเล่มนี้สุดหัวใจ นวนิยายเรื่องนี้ถูกร้อยเรียงขึ้นจากเรื่องสั้น 13 ชุด โดยมีตัวละคร “โอลีฟ คิตเตอริดจ์” ครูสอนเลขในโรงเรียนประจำเมืองครอสบี้ รัฐเมน เป็นศูนย์กลางและหัวใจของเรื่อง โอลีฟเป็นผู้หญิงร่างสูงใหญ่ ปากร้าย เธอรักสามีและลูกชาย แต่ไม่แสดงออก สามีเธอคือ เฮนรี คิตเตอริดจ์ เป็นเภสัชกรในเมืองที่อยู่ถัดไป ทั้งคู่มีลูกชายหนึ่งคนคือ คริสโตเฟอร์ ผู้เติบใหญ่มาเป็นคุณหมอรักษาเท้า และย้ายจากพ่อแม่ไปอยู่ไกลถึงแคลิฟอร์เนียก่อนปักหลักแต่งงานครั้งที่สองที่ นิวยอร์ก คริสโตเฟอร์ไม่ค่อยโทรหาแม่ เขาให้เหตุผลว่า “แม่มักทำให้คนรอบตัวรู้สึกแย่” แน่นอนว่าโอลีฟงุนงงและรู้สึกเจ็บปวดกับประโยคนั้น 
           
นอกจากครอบครัวของโอลีฟแล้ว เรายังพบเจอตัวละครผู้มีร่องรอยแตกร้าวอีกหลายชีวิต เช่นนักดนตรีในบาร์ที่ถูกความรักในอดีตตามหลอกหลอน ว่าที่จิตแพทย์ที่หมดแรงในการมีชีวิตอยู่ แม่ผู้อมทุกข์จากการแท้งลูก คู่แต่งงานที่ลืมเลือนไปแล้วว่าความหวานหอมของชีวิตคู่เป็นแบบไหน ชายชราการศึกษาสูงผู้ไม่แคร์ความตายแต่หวาดกลัวการถูกทิ้งไว้คนเดียว เป็นต้น ดูเหมือนทุกคนในเมืองครอสบี้ต่างมีสงครามส่วนตัวที่ต้องต่อสู้ นี่คือเรื่องราวของคนตัวเล็กที่ดิ้นรนเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งเมื่อได้หยุดอ่าน ก็คล้ายกับเรากำลังส่องกระจกเห็นชีวิตเราอยู่ในนั้น แม้อาจเป็นเพียงบางเสี้ยวมุมก็ตามที           
 
เอลิซาเบท สเตราต์ เขียนเรื่องราวเหล่านี้ได้ลึกซึ้งมาก อาจเพราะเธอสนใจชีวิตคนมานานมากแล้ว ในเว็บไซต์ส่วนตัวของเธอเขียนระบุไว้ว่า “สำหรับฉันแล้ว ไม่มีอะไรน่าสนใจมากเท่ากับชีวิตคน” และใน โอลีฟ คิตเตอริดจ์ สเตราต์ก็สะท้อนชีวิตสามัญของผู้คนหลากหลายออกมาได้อย่างถึงแก่น ว่าเราทุกคนล้วนหวาดกลัวความเดียวดาย เราล้วนต้องการความรัก …หรืออย่างน้อยที่สุด เราล้วนอยากมีใครสักคนที่คอยรับฟัง     
       
นี่คืองานเขียนเกี่ยวกับชีวิตสามัญที่แสนอัศจรรย์เล่มหนึ่ง 




หนังสือของเอลิซาเบท สเตราต์ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษไทยเรียบร้อยแล้วคือ โอลีฟ คิตเตอริดจ์ แปลโดย อิศรา ราคา 200 บาท พิมพ์ครั้งแรกโดยแพรวสำนักพิมพ์ ธันวาคม พ.ศ. 2554 





อ้างอิง

*สัมภาษณ์กับบ็อบ ทอมป์สัน, วอชิงตันโพสต์, 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2009
**เรื่องเดียวกัน                   
***เรื่องเดียวกัน

No comments: