Tuesday, August 07, 2012

[งานแปล] Provocative Feature: รู้ทันเล่ห์กลของวังวนช็อปปิ้ง


[งานแปล]


 Women's Health Thailand
Issue January 2012
เรื่อง WH USA    แปลและเรียบเรียง Tiktok    ภาพ Rodale



The Lure of the Score: รู้ทันเล่ห์กลของวังวนช็อปปิ้ง

                Women’s Health วิเคราะห์เจาะลึกว่าอะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเสพติดการช้อป? ทำไมสาวๆ ถึงถูกล่อลวงให้ควักกระเป๋าตังค์จ่ายกับสินค้าในห้างอยู่เสมอ? แล้วเราก็พบปัจจัยด้านจิตวิทยาอันน่าประหลาดใจยิ่ง ถ้าสนใจ เชิญอ่านทางนี้ ก่อนที่คุณจะตกเป็นเหยื่อของการเซล, ซื้อ 1 แถม 1, หรือแม้กระทั่ง 0 เปอร์เซ็นต์ 10 เดือนนั่นก็ตาม
photo source: www.womenshealthmag.com



เห็นป้ายเซลทีไร ห้ามใจไม่อยู่ทุกที

                หลายสัปดาห์ก่อน ฉันไปที่แผนกขายสินค้ากีฬาในห้างใจกลางเมืองแห่งหนึ่งเพื่อเลือกซื้อรองเท้าคู่ใหม่ จริงๆ คู่เก่าก็ยังไม่ได้เสื่อมสภาพอะไรหรอกนะคะ (เพิ่งถอยมาได้ 1 เดือนเอง) แต่หลังจากอ่านเจอเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งน้ำหนักเบา ดีไซน์เรียบง่ายคลาสสิก เหมาะกับสาวมินิมัลสุดๆ (กรี๊ด) ฉันก็รีบเดินตัวปลิวไปห้างเลยทันที แหม...ฉันอยากได้รองเท้าน้ำหนักเบากว่าคู่เดิมนี่นา

                หลังจากเดินเซอร์เวย์อยู่ 30 นาที ลองรองเท้าไปแล้วเกือบทุกยี่ห้อที่ห้างมีขาย ฉันก็พบรองเท้าในฝัน (มันลงตัว ใช่เลย อย่างกับซินเดอเรลล่าเจอรองเท้าแก้วแน่ะ!)คู่นี้แหละค่ะ” ฉันบอกพนักงานขาย ก่อนที่เธอจะยิ้มแปลกๆ แล้วพูดว่า “พี่ไม่รู้จะบอกคุณน้องดีไหม แต่ตอนนี้ห้างเรากำลังเซลรองเท้าอยู่ยี่ห้อหนึ่งก่อนที่รุ่นใหม่จะมา ซื้อคู่แรก คู่ที่สองลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ค่ะ”

                คุณพี่คนนั้นพูดถูกแล้ว เธอไม่ควรบอกความลับเรื่องของเซลกับฉันเลย เพราะผลสำรวจเร็วๆ นี้ เผยว่า เวลาเราได้ส่วนลดมากๆ น่ะ มันเร้าอารมณ์พอๆ กับเซ็กซ์ดีๆ เลยเชียวแหละ แล้วดูสิ “รองเท้า 2 คู่ ราคาพอๆ กับรองเท้ามินิมัลคู่ที่ฉันถืออยู่ คุณสมบัติก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก...โอ้! เอาไงดีล่ะทีนี้?”

                ไปๆ มาๆ ฉันก็เลยลังเลใจอยู่เกือบ 20 นาที คิดแล้วคิดอีกว่าควรทำยังไง สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อรองเท้าแบบมินิมัลอย่างที่อยากได้แต่แรกนั่นแหละ แต่ก็ยังกังวลว่าเลือกถูกไหม

สิ่งที่เราได้จากเรื่องนี้คือ ฉันไปห้างด้วยความตั้งใจว่าจะต้องซื้อรองเท้ากีฬาแบบมินิมัลน้ำหนักเบา แต่ทำไมฉันถึงได้สับสนกับสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่ต้น เพียงเพราะได้ยินคำเดียวเท่านั้น “เซล!” ทั้งนี้ โจนาห์ เลเฮอร์ (Jonah Lehrer) ผู้เขียนหนังสือ How We Decide อธิบายว่า เมื่อเราได้ยินคำว่า “ของเซล” กลไกของสมองสองส่วนจะแย้งกันเอง โดยสมองส่วน Nucleus Accumbens (สมองส่วนนี้เป็นจุดเชื่อมต่อประสาทที่จะทำงานเมื่อร่างกายเกิดความต้องการบางอย่าง เรียกอีกชื่อได้ว่า “ปุ่มอยาก”) จะถูกสมองส่วนอินซูลา (Insula) โต้กลับ (สมองส่วนอินซูลาจะหลั่งสารที่ทำให้เรารู้สึกปวดหัว ควบคุมให้เราลดการใช้จ่ายเกินตัวลงอัตโนมัติ) “ของเซลจะไปทำให้สมองส่วนอินซูลาสงบลง อาการปวดหัวจะทุเลาลงเมื่อคุณรู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลังได้รับข้อเสนอดีๆ อยู่” เลเฮอร์ กล่าว

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมห้างร้านใหญ่ๆ จึงมักใช้แทคติกลดกระหน่ำดัมป์ราคาสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คนแห่พากันรัดเข็มขัดเช่นนี้ พวกพ่อค้าแม่ขายน่ะเขารู้ดีว่ามันยากที่เราจะซื้อของราคาปกติ ดังนั้นหลายห้างเลยตัดราคากันกระหน่ำเสีย 50 เปอร์เซ็นต์ ในอเมริกานั้น ถ้าซื้อของออนไลน์ บางห้างก็จัดส่งให้ฟรี (จัดส่งภายในประเทศ) ซึ่งในแง่จิตวิทยา มันเวิร์กมาก แม้จะอยู่ในช่วงข้าวยากหมากแพงก็เหอะ

ปัญหาสำหรับขาช้อปอย่างเราคือ บางครั้งซื้อของเซลก็ฟังดูคุ้มดี เพราะได้ของที่อยากได้ในราคาถูกลง แต่บางครั้งคำว่า “เซล” ก็ทำให้คุณไม่ทันคิดจนยอมควักเงินซื้อของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ด้วยซ้ำ ซึ่งด้านล่างนี่คือกลยุทธ์ที่พวกห้างชอบใช้เพื่อล่อลวงพวกเรา และวิธีที่เราควรเตรียมไว้รับมือกับเล่ห์กลพวกนี้




photo source: www.womenshealthmag.com




กลยุทธ์แรก: เปรียบเทียบราคา

                นักวิจัยเปิดเผยว่า พวกเรามีแนวโน้มจะซื้อของลด ถ้าพวกเราเห็นว่าพวกเราสามารถประหยัดเงินได้เยอะแค่ไหน เว็บอย่าง Gilt.com ไม่เพียงโชว์ราคาที่รองเท้าบู๊ตยี่ห้อ DKNY ขายในราคา 199 เหรียญ แต่ยังบอกให้รู้ว่า ราคาก่อนลดคือ 395 เหรียญเชียวแน่ะ (ส่วนใหญ่ของลดก็จะใช้เทคนิคนี้) การบอกว่าลดกี่เปอร์เซ็นต์ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน เมื่อห้างบอกว่าลดทุกอย่าง 30 เปอร์เซ็นต์ มันฟังดูลดเยอะกว่าบอกว่า ลดราคาเสื้อสเวตเตอร์จาก 70 เหรียญ ลงมาเหลือ 21 เหรียญเสียอีก

วิธีรับมือกับเล่ห์กล: ก่อนจะไปจ่ายตังค์ ให้คิดถึงความหมายโดยนัยของการซื้อก่อน “ฉันจะใส่เสื้อตัวนี้ไปไหนได้บ้าง” “ถ้าฉันขอไปคิดก่อนค่อยซื้อจะเกิดอะไรขึ้น” “ฉันจะยังตัดสินใจซื้อรึเปล่า ถ้าของชิ้นนี้เอามาคืนไม่ได้” ถ้าคุณจดๆ จ้องๆ จะซื้อเสื้อผ้า ขอให้คิดก่อนจะหยิบมาลอง เลเฮอร์เตือนว่า ถ้าคุณลองสวมเสื้อผ้า อาทิ สกินนี่ยีนส์สุดสวยแล้ว คุณจะรู้สึกเป็นเจ้าของยีนส์ตัวนั้นโดยไม่รู้ตัว ณ จุดนั้น คุณจะเกิดความคิดว่า ไม่ซื้อ = สูญเสียความเป็นเจ้าของไป ... ดังนั้น คิดให้ดีก่อนหยิบอะไรมาลอง

กลยุทธ์ที่สอง: ติดป้าย “สินค้ามีจำนวนจำกัด”
                เคล็ดลับการขายของในเว็บ Ensogo ที่เวิร์กคือการทำให้สมองเราคิดว่า ถ้าเราไม่ซื้อดีลสินค้าจำนวนจำกัดที่ลดราคาไว้ตอนนี้ เราจะพลาดของดีๆ (อันคุ้มค่าไป) หรืออย่างบางแบรนด์ที่จัดจำหน่ายอย่างจำกัด ก็ทำให้เรารู้สึกว่า “ต้องรีบซื้อ” “รีบจอง” (เช่นรถยนต์บางรุ่นที่เปิดให้จอง) ความคาดหวังว่าจะได้รับสินค้านั้น ทำให้เรารู้สึกดีมากกว่าตัวสินค้าอีกด้วยซ้ำ

วิธีรับมือกับเล่ห์กล: กลยุทธ์ลดการขายแบบนี้เล่นกับความจริงที่ว่า สมองของมนุษย์จะจดจ่ออยู่กับปัจจุบันและสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าอนาคต ตัวอย่างเช่น คุณอาจอยากเก็บเงิน 20,000 บาทเข้ากองทุนการเงิน หรืออดออมไว้สำหรับการพักร้อนที่ยุโรป มันก็เป็นแผนการออมที่ดี แต่มันดูนามธรรมไป เพราะถ้าเทียบกับกระเป๋าหลุยส์วิตตองลดราคาจำนวนจำกัดที่วางอยู่ตรงหน้าแล้ว ของเซลที่เห็นตรงหน้าย่อมยั่วยวนใจกว่า ดังนั้นสิ่งที่คุณควรทำคือ มีสติ และทำให้เป้าหมายในอนาคตดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น

                ลองคิดอย่างนี้ก็ได้ค่ะ ว่านั่นไม่ใช่เพียงการพักร้อน แต่เป็นการใช้เวลา “4 วันที่สกีรีสอร์ตในสวิตเซอร์แลนด์” แล้วนำรูปยอดเขาสวยๆ มาทำเป็นวอลล์เปเปอร์มือถือ คุณจะได้เห็นรูปบ่อยๆ แล้วระลึกได้ว่า การพักร้อนนี่มันเห็นเป็นภาพได้ และสำคัญยิ่งยอด

กลยุทธ์ที่สาม: ให้เครดิต ชะลอการจ่ายเงินไปก่อน
                ยกตัวอย่างโฆษณารถหรือคอนโดบางอย่างก็ได้ค่ะ “ไม่ต้องวางเงินดาวน์ยาวนาน  xx เดือน” อ่านแล้วยั่วยวนใจชะมัด กลยุทธ์นี้ได้ผลพอๆ กับบัตรเครดิตนั่นแหละค่ะ มันโน้มน้าวสมองคุณให้คิดว่าการใช้จ่ายนี้ไม่เจ็บปวด เพราะคุณไม่ต้องจ่ายเงินวันนี้ “สมองส่วนอินซูลาจะไม่เข้าใจเครดิตการ์ด ดังนั้นเราเลยซื้อของผ่านบัตรพลาสติก ไม่ซื้อผ่านเงิน” เลเฮอร์ อธิบาย

วิธีรับมือกับเล่ห์กล: งานวิจัยเผยว่า ยิ่งเงิน “พลาสติก” มีมากเท่าไหร่ คุณยิ่งจะชอบจับจ่ายมากเท่านั้น พวกเราเหมือนจะใช้เงินกับเครดิตการ์ดง่ายกว่าเดบิต แล้วใช้เดบิตง่ายกว่าใช้เงินสด และใช้เงินเยอะเวลาที่จ่ายเป็นแบงค์เล็กๆ (หลายใบ) มากกว่าใช้ใบใหญ่ใบเดียว เพื่อให้จัดการเงินได้ง่าย ทิ้งบัตรเครดิตไว้ที่บ้าน แล้วพกแบงค์ใหญ่ๆ ออกจากบ้านแทนแบงค์เล็ก ... ในทางจิตวิทยา คุณจะไม่อยากแตกเงิน ก็เลยช่วยไม่ให้เสียเงินนั่นเอง





_________________________________________________



photo source: www.womenshealthsa.co.za


กำจัดวังวนการซื้อไม่เลือกหน้า

                ถึงเศรษฐกิจจะฝืดเคือง แต่ดูเหมือนเหล่าสาวนักช้อปก็ยังคงห้ามใจใช้เงินไม่ได้ โดยเฉพาะที่อเมริกา “คนเหล่านี้ยอมซื้อของตามใจชอบ และกอบโกยสิ่งที่พวกเธอคิดว่าจำเป็นหรือต้องการในเฉพาะหน้า” ดร.คิท ยาร์โรว์ (Kit Yarrow) นักจิตวิทยาแห่ง Golden Gate University อเมริกา กล่าว “จากนั้นจะสำนึกผิดกับหายนะที่ตัวเองสร้างขึ้น แล้วก็ค่อยๆ เอาสินค้าไปคืน” แล้วก็เริ่มต้นวงจรช้อปอีกคราว ... อีกครั้ง

                จากรายงานของบริษัท Retail Equation ที่ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกัน เผยว่า จำนวนการคืนสินค้านับแต่ปี 2007 เป็นต้นมานั้น เพิ่มขึ้น 11.8 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ แล้ว จำนวนของผู้ซื้อสินค้าที่นำสินค้ามาคืนในปี 2010 นั้นมีมูลค่าเกิน 194 พันล้านเหรียญ และร้านค้าปลีกในอเมริกาก็ต้องรับรู้ว่ามีเรื่องอย่างนี้อยู่ จริงๆ มีบางร้านน่าจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประเมินพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งฐานข้อมูลนี้รักษาข้อมูลเช่นจำนวนเงินที่คุณนำสินค้าไปคืน จำนวนของสินค้าที่คนคืน (กี่ชิ้น) และจำนวนครั้งที่มีคนคืนของปีที่แล้วโดยไม่มีใบเสร็จ


แต่คุณอาจต้องคิดอีกรอบ

                ถึงตั้งใจจะเอาสินค้าไปคืน ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ดีนั่นแหละ เพราะส่วนใหญ่เหล่านักช้อปน่ะ พอไปถึงจุดเปลี่ยนสินค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนใจทั้งนั้น “เวลาที่คุณอยู่ในห้างซึ่งมีบรรยากาศสงบ มันง่ายที่จะหยิบสินค้านั้น สินค้านี้ขึ้นมาโดยไม่คิด” ดร.ยาร์โรว์ กล่าว เมื่อคุณกลับบ้าน คุณจะเริ่มเกิดคำถามว่า “สิ่งนี้จำเป็นกับฉันจริงๆ เหรอ” “คุ้มค่าเงินไหมเนี่ย” “ที่อื่นจะถูกกว่านี้ไหม” เป็นต้น

                สาวนักช้อปบางคนก็เป็นพวกลังเลอยู่นั่นแหละ ชอบกังวลว่าไอ้ที่ซื้อมาน่ะจะดีไหม ขณะที่อีกฝั่งก็เป็นพวกไม่มีเวลาคิด (ไม่ได้ลองสินค้าด้วยซ้ำ) เวลาที่ไปห้างน่ะก็รีบซื้อเลย ในแง่นี้ การลดอย่างหนักหน่วงยิ่งไปโหมเชื้อไฟ ความกลัวที่ว่าจะพลาดการซื้อของดีไป “การขายสินค้าที่จำกัดเวลา ลิมิเต็ดอิดิชั่น นั้นถูกออกแบบมาให้กระตุ้นความตื่นตูมในผู้ซื้อและให้เกิดการซื้อ” ยาร์โรว์กล่าว “คุณอาจจะซื้อบางอย่าง หรือ 3 อย่าง เพราะว่าคุณกังวลว่าถ้ากลับมาใหม่ ของจะไม่มีแล้ว” จนกระทั่งเมื่อบัตรเครดิตใกล้หมดวงเงินนั่นแหละ คุณจะพบว่าตัวเองเอาของกลับไปคืน

                บางเว็บในอเมริกาก็มีแผนกระตุ้นการขาย ด้วยการโปรโมตว่าสามารถคืนสินค้าได้ถ้าไม่พอใจ แต่กว่าจะคืนได้จริงก็จุกจิกยุ่งยากทีเดียวล่ะ ทว่ากลยุทธ์นี้ก็ได้ผล ล่อให้นักช้อปออนไลน์แห่กันมาซื้อได้มากมายเชียว แล้วก็ลงท้ายกลายเป็นว่า นักช้อปหลายราย เสพติดการรอคอยซื้อของถูกในเน็ต จนบางทีก็ซื้อของที่ไม่ต้องการ หรือไม่ได้ชอบใจเลยด้วยซ้ำ



สิ่งยั่วใจอันไร้พิษสง หรือภาวะวุ่นวายกันแน่นะ?

                นักเศษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์ด้านพฤติกรรม กล่าว่า มันไม่ใช่ “สิ่งที่เราซื้อ” ที่ทำให้เรารู้สึกอารมณ์ดี แต่มันคือ “การได้ซื้อ” ต่างหาก พวกเราจะรู้สึกเหมือนได้รับความสำเร็จที่ได้สินค้าราคาดี (ดีต่อตัวเรา) หลังจากนั้นจะตามด้วยความปีติที่ได้คืนของ คุณเชื่อว่าควบคุมความอยากช้อปของตัวเองได้ และคุณกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง และเมื่อมีคนยื่นเงินคืนให้คุณ คุณจะรู้สึกเหมือนกับว่าคุณได้รับเงินคืนจากการที่คุณเป็นหญิงสาวผู้เปี่ยมด้วยสติและช้อปอย่างชาญฉลาด

                แต่ในบางกรณี พวกที่เสพติดซื้อของมาเพื่อคืน ก็มีเยอะ “เหมือนโรคกลัวอ้วน ที่คุณกินเยอะๆ แล้วอ้วกออก คุณต้องควบคุมให้ได้” ดร.แอพริล เลน เบนสัน (April Lane) นักจิตวิทยาแห่งเมืองนิวยอร์กล่าว แต่สำหรับหลายคน การเลือกว่าจะซื้ออะไร และจะเก็บอะไรไว้ มันให้อารมณ์เหมือนกับว่าได้รับอำนาจเป็นใหญ่ ซึ่งอาจสะท้อนว่าพวกเขาขาดอำนาจนี้ในด้านอื่นของชีวิต (ประมาณว่าช้อปเพื่อเติมเต็ม) และเนื่องจากช้อปแล้วเอาไปคืนได้ ไม่มีอะไรเสียหายนี่ ก็ทำได้ไม่ใช่เหรอ?

                ทว่ามันมีราคาแอบแฝงที่คุณต้องจ่ายไป จริงๆ แล้ว การซื้อแล้วคืนของบ่อยๆ สามารถพิจารณาเป็นขาช้อปเสพติด หรือพวกควบคุมตัวเองไม่ได้ “คุณอาจจะไม่ได้หมดตัว แต่คุณกำลังเสียเวลาและพลังชีวิตมากมาย” เบนสัน กล่าว เพราะที่จริงแล้ว เธอพบว่าการหิวกระหายการช้อปมากไป มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินอย่างน้อยสองเท่า หรือเสียเวลาหลายชั่วโมงเถียงว่าจำเป็นต้องซื้อไหม หรือควรนำของไปคืนหรือเก็บไว้ดี ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้ ต่างส่งผลกระทบต่อจิตใจทั้งนั้น (ทำให้อารมณ์เสีย / กวนอารมณ์ได้) เหมือนเราต้องใช้สมองไปจัดเก็บใบเสร็จมากมาย และกังวลว่าควรจะเอาอะไรไว้ แล้วสินค้าไหนจะเอาไปคืน

                นอกจากนี้ การซื้อของเพื่อที่อีกไม่กี่วันหรือสัปดาห์ก็นำกลับไปคืนที่ร้านค้า สามารถกัดเซาะความเชื่อมั่นในคุณค่าของสาวๆ ลงได้ “พวกที่ชอบคืนของ แทบจะไม่อนุญาตให้ตัวเองมีช่วงเวลาแสนสุขที่ได้ซื้ออะไรให้ตัวเอง” อแมนด้า เคลย์แมน (Amanda Clayman) นักจิตวิทยาบำบัดแห่งเมืองนิวยอร์ก กล่าว “มันจะมีความคิดว่า “ฉันไม่ควรซื้อมันมาเลย” โผล่มาเสมอ”

                ถ้าคุณคิดว่า ตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องบำบัดอาการ “ช่างซื้อ” แล้ว ลองทำตามคำแนะนำนี้ แล้วเริ่มต้นออกไปช้อปด้วยความสุข และไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง พร้อมนะคะ



  • มุ่งมั่นกับสิ่งที่ซื้อ การรู้ว่าคุณคืนของไม่ได้จะผลักดันให้คุณช่างเลือกสรรมากขึ้น เคลย์แมนบอกว่า เมื่อคุณซื้อของกลับบ้านไปแล้ว และรู้ว่าคุณสามารถจ่ายมันได้ ให้แกะสติ๊กเกอร์ราคาออก จากนั้นก็เปิดกล่อง หยิบของมาใช้เลย



  • จำกัดตัวเลือก นักจิตวิทยาพบว่า เมื่อคนเรามีทางเลือกมากเกินไป เราจะมีอาการไม่พอใจกับสิ่งที่เราเลือก ทำให้ท้ายสุดเราก็เอาของกลับไปคืน ดังนั้นเลี่ยงห้างร้านใหญ่ๆ แล้วตรงไปที่ร้านบูติกที่เล็กกว่า แล้วถ้าต้องลองของ เช่นลองเสื้อผ้า ก็หยิบไปแค่ไม่กี่ตัวพอ อย่าหอบไปจนเต็มมือ



  • ถ้าคุณนำของไปคืน ให้รักษาประวัติให้ดี อย่าคืนของสิ่งหนึ่งเพื่อซื้อสิ่งอื่น ถ้าทำอย่างนั้น แสดงว่าคุณตกอยู่ในวงจรการซื้ออย่างถาวรแล้ว คุณจะเป็นสาวจำพวก “ซื้อแล้วคืน” จนถอนตัวไม่ขึ้น ลองทำนี่ให้เป็นกิจวัตร ถ้านำของไปคืนที่ห้าง ให้ไปแล้วรีบกลับ อย่าปล่อยให้บรรยากาศอันยั่วยวนของห้างร้านทำให้คุณหลงควักเงินมาซื้ออะไรอีกรอบเลยค่ะ




photo source: www.womenshealthmag.com





สุดท้ายแล้ว เงินซื้อความสุขได้ไหม?

                หลายปีที่นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวอ้างว่า คนส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกแฮปปี้กว่าเวลาที่ใช้เงินไปกับ “ประสบการณ์ต่างๆ” (เช่น พักร้อน หรือไปสปา) มากกว่าการใช้ซื้อสิ่งของ (เช่นเสื้อสเวตเตอร์แคชเมียร์ หรือรถยนต์) ขณะที่สิ่งนี้จริงสำหรับหลายคน แต่อีกหลายคนก็ยืนยันว่า การได้ครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่ง ให้ความสุขได้มากสุด ... ความสุขเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะตัวจริงๆ

                แต่นี่คือคีย์หลัก คุณต้องเลือกอย่างฉลาด “พวกเราแต่ละคนมีเกณฑ์ในการให้คุณค่าแตกต่างกันไป” ดร.หลุยส์ วิตต์ (Lois Vitt) นักสังคมวิทยาผู้ทำการสังเกตและผู้อำนวยการแห่ง Institute for Socio-Financial Studies ในรัฐเวอร์จิเนีย ให้ความเห็น “ดังนั้นยิ่งคุณใช้จ่ายไปกับสิ่งที่คุณให้คุณค่าและเหมาะกับไลฟ์สไตล์คุณ คุณก็จะยิ่งรู้สึกแฮปปี้กว่าและสบายใจกว่า” และนี่คือข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ในการเรียนรู้การใช้เงินอย่างฉลาด คุณจะสามารถซื้อความสุขให้กับตัวเองได้ และทำให้เสียเงินน้อยกว่าเดิม



คิดอย่างนี้แล้วจะมีสุข

                แล้วถ้าอย่างนี้คุณควรจ่ายเงินให้กับอะไรดีล่ะ? วิตต์ได้ใช้เวลา 20 ปีศึกษาคำถามนี้ และเธอได้ค้นพบว่าพฤติกรรมการใช้เงินที่แตกต่าง 4 แบบ พวกแรก คือพวกซื้อเพราะแรงปรารถนา (ซื้อตามแรงปรารถนา) ที่ใช้เงินกับบางอย่างเพื่อแสดงถึงตัวตนความเป็นตัวเอง พวกที่สอง คือพวกที่มีความสุขที่ได้จ่ายเงินให้กับการกุศล ซื้อของขวัญให้เพื่อนหรือคนรัก พวกที่สามคือ พวกที่ชอบซื้อของที่เห็นได้ชัด จับต้องได้ อบอุ่น ปลอดภัย หรือเพื่อสุขภาพ และแบบสุดท้าย คือพวกใช้เงินเพื่อการลงทุน หรือทำให้เงินงอกเงยนั่นเอง




__________________________________________ 



พวกเขาออกแบบเล่ห์กลมาล่อลวงคุณอย่างนี้แหละ...


photo source: www.womenshealthmag.com

                

                 ไอ้พฤติกรรมช่างซื้อของพวกคุณน่ะ มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ได้รับอิทธิพลมาจากห้างสรรพสินค้านั่นแหละค่ะ มาร์แชล โคเฮน (Marshal Cohen) หัวหน้านักวิจัยด้านอุตสาหกรรม จาก NDP (องค์กรวิจัยการตลาดซึ่งตั้งอยู่ที่นิวยอร์ก) กล่าวว่า “ทุกอย่างในห้างล้วนออกแบบมาเพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณการช้อปของพวกคุณ ตั้งแต่การจัดวางของ การแบ่งพื้นที่ รวมถึงการกำหนดทิศทางการเดินของพวกเราด้วย” ด้านล่างนี่คือกลยุทธ์การใช้ดีไซน์ของห้างมาดึงดูดให้คุณเผลอควักเงินจ่าย...จนได้


ควบคุมการจราจรในห้าง

ห้างจะออกแบบแผนผังเพื่อกำกับการเดินและการจับจ่ายของพวกเรา ดร.แอล.เจ ชรัม (L.J. Shrum) ประธานฝ่ายการตลาด แห่ง University of Texas แห่งเมืองซานอันโตนิโอ อเมริกา เผยให้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ร้านเสื้อบางร้านมักวางสินค้าไว้ในทิศทางเดียวกับที่เราจับจ่าย คือเป็นรอบวงมากกว่าจะเป็นแนวซิกแซก ห้างสรรพสินค้ามักจะวางสินค้าราคาสูงของสตรี หรือของที่ไว้ยั่วใจ ไว้ทางด้านซ้าย เพราะมีงานวิจัยเผยว่า เวลาเดินเข้าห้างนั้น ผู้หญิงมีแนวโน้มจะมองและใส่ใจด้านซ้ายมือมากกว่า



กลบหลุมฝังของลดราคา

                ร้านค้าเสื้อผ้ามักจะขายสินค้าลดราคาอยู่มุมหลังๆ ของห้างมากกว่าจุดที่โดดเด่น โคเฮนอธิบายเรื่องนี้ว่า “นักช้อปจำเป็นต้องต่อต้านความยั่วยวนของสินค้าใหม่ๆ ราคาแพงเวลาที่พวกเขาเดินผ่านมันไป” (การทำให้ลังเลแถวลิฟท์ถือเป็นอีกแทคติกหนึ่ง โดยพวกมันถูกออกแบบให้ขวางทางคุณทั้งขึ้นหรือลง ทำให้คุณเห็นสินค้าตลอดเวลาที่คุณเดินห้าง)



ใช้สีหลอกล่อ

                ก็เหมือนร้านฟาสต์ฟู้ดนั่นแหละ ที่รู้ว่าการใช้สีแดงและส้ม จะกระตุ้นความอยากอาหาร ร้านค้าหลายร้านก็รู้ดีว่าสีสงบ (ไล่ตั้งแต่สีน้ำเงินจนถึงเฉดสีกลางๆ เช่น สีครีมและขาว) มีแนวโน้วที่จะล่อลวงให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อสินค้าจำพวกเสื้อผ้าได้

No comments: